จบศิลปกรรมฯ ไปทำอะไร? รู้จักอาชีพ "ศิลปินดอกไม้-สีน้ำ" ไม่ได้ไส้แห้ง แถมโกอินเตอร์!


จบศิลปกรรมฯ ไปทำอะไร? รู้จักอาชีพ "ศิลปินดอกไม้-สีน้ำ" ไม่ได้ไส้แห้ง แถมโกอินเตอร์!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ดราม่าในวงการการศึกษาไทยคงไม่มีอะไรน่าจับตามองเท่ากับประเด็นการรับน้องของคณะศิลปกรรมศาสตร์ในสถาบันดังแห่งหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นระบบปิดและไม่ยอมให้คนนอกเข้าไปตรวจสอบ จนทำให้มีการโต้กลับกันอย่างดุเดือด

ดราม่าไม่จบแค่นั้น เพราะบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องดังกล่าวได้วิพากษ์วิจารณ์ไปถึงคณะศิลปกรรมศาสตร์ว่าเป็นคณะที่คนเก่งไม่ค่อยสนใจ หรือมักเลือกห้อยท้ายเอาไว้ จบไปก็มีอาชีพรองรับน้อยหรือมองไม่ออกว่าจะทำงานอะไรได้บ้าง?

นั่นสิ จบศิลปกรรมศาสตร์ไป เค้านิยมไปทำงานอะไรกัน? วันนี้ พี่เป้ จะพาไปทำความรู้จักอาชีพที่เค้าว่ากันว่า งานนี้แหละตรงสายสุดๆ สำหรับคนจบศิลปกรรมศาสตร์ นั่นคืออาชีพ "ศิลปิน" ที่หากพูดขึ้นมาลอยๆ อาจจะนึกไม่ออกว่า อาชีพนี้ทำอะไร? แล้วต้องสมัครทางไหนถึงจะเข้ามาเป็นศิลปินได้?

- พัชราพรรณ จันทร์เทพย์ (กิ๊บ) ปัจจุบันประกอบอาชีพศิลปินอิสระ
- จบจากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนเดียวในภาควิชาที่สอบผ่านเข้ามาด้วยวิธีการรับตรง ในปี 2548
- หลังเรียนจบไม่เคยทำงานประจำเลยแม้แต่งานเดียว มุ่งสู่อาชีพศิลปินอย่างเต็มตัว
- งานวาดที่โดดเด่นและถนัดที่สุดคือ "ดอกไม้-สีน้ำ"
- ผลงานชิ้นเด่นคือ ได้วาดภาพดอกกุหลาบบนกล่องทิชชู่ยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง
- ปัจจุบันแสดงงานและเปิดเวิร์คช็อปการวาดภาพทั้งในและต่างประเทศ

ชีวิตที่เติบโตมาในบ้านที่มีพ่อเป็นต้นแบบ ทำให้ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

พี่เติบโตมาพร้อมกับศิลปะ พ่อเป็นครูสอนศิลปะและเป็นช่างปั้นประติมากร ทุกอย่างมันซึมซับให้เราเป็นเราทุกวันนี้ ถึงแม้คนอื่นจะถามว่า เป็นศิลปินแล้วไส้จะไม่แห้งเหรอ? แต่คนที่จะไม่ถามคำถามนี้แน่ๆ คือพ่อของเราเอง

พี่ชอบศิลปะมาตั้งแต่จำความได้ ช่วยพ่อปั้นดินบ้าง พอโตก็เริ่มวาดรูป แข่งวาดรูปเรื่อยๆ เริ่มมองเห็นอนาคตแล้วว่า ถ้าโตไป เราก็คงอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ

ชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็มีเหตุผลสำคัญในการเลือกเรียนสายวิทย์คณิต

พี่ถนัดศิลปะเพราะเราโตมากับสิ่งแวดล้อมที่มีศิลปะรอบตัว พี่เลยรู้สึกว่า ในโลกนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าเรียนรู้ วิทย์คณิตก็เป็นอีกอย่างที่พี่อยากจะเรียนรู้มัน ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียน ได้อยู่ห้องคิงเลย แต่ก็ยังเรียนศิลปะอยู่บ้างนะ ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งทุกปี ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ เขตการศึกษา จนถึงระดับประเทศค่ะ

จากเด็กต่างจังหวัด การได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยดังในกรุงเทพฯ เหมือนจะเป็นเรื่องเกินฝัน?

จุฬาฯ เป็นอะไรที่เกินฝันมากๆ พี่เรียนมัธยมที่โรงเรียนภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พูดตรงๆ คือเรารู้สึกว่าเราเป็นเด็กบ้านนอกธรรมดาคนนึงเองค่ะ ฮ่าๆๆ >< การจะได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ นั้นดูเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยิ่งมาเข้ามหาวิทยาลัยดังขนาดนี้แทบจะเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความคิด วันดีคืนดีไปค้นเจอใน Dek-D นี่แหละว่าเค้ามีเปิดรับตรงคณะศิลปกรรมฯ ที่จุฬาฯ เลยอยากลองดู ตอนแรกต้องส่งพอร์ตฟอลิโอไปให้ทางคณะเลือกก่อน ถ้าผ่าน ถึงจะมีสิทธิ์เข้ามาสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ สรุปว่า เราเป็นคนเดียวที่สอบรับตรงผ่านเข้ามาเรียนในภาควิชาทัศนศิลป์ ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ เอนทรานซ์เข้ามา บอกตรงๆ เลยว่า ตอนที่รู้ว่าสอบติด คิดว่าฝันไป!

ความแตกต่างของการเรียนศิลปะระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย

ทัศนศิลป์คือการเรียนศิลปะแบบ 100% ทั้งการวาด การปั้น ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ คอมพิวเตอร์กราฟิก ตอนปี 3 มีให้เลือกลงวิชาเอกเฉพาะด้วย พี่เลือกการวาดโดยตรงเลยเพราะชอบด้านนี้ที่สุด บอกเลยว่าต่างจากมัธยมมากๆ การเรียนระดับมัธยมคือสัปดาห์ละ 1 คาบ แต่พอมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยคืออยู่ด้วยกันตลอด 5 วัน เรียนลึกถึงประวัติของศิลปะ การวิจารณ์ และแนวคิด

ธีสิสก่อนจบเลือกทำหัวข้อ "แรงบันดาลใจของดอกไม้" เน้นศึกษาความหมายของดอกไม้แต่ละสี ส่วนตัวเป็นคนชอบดอกไม้มากและเชื่อว่าผู้หญิงแทบทุกคนก็น่าจะชอบเหมือนกัน เลยหยิบเรื่องนี้มาทำค่ะ

เส้นทางสู่ศิลปินที่จำเป็นต้องสร้างผลงานตั้งแต่สมัยเรียน

ตอนเรียนจุฬาฯ พี่ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งวาดรูปหลายงาน พอไปออกงาน ทำให้ได้รู้จักคนเยอะ รู้จักศิลปินคนนั้นคนนี้ มันเหมือนเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมแสดงงานอีกหลายครั้งต่อมา ครั้งแรกที่ได้แสดงงานคือตอนปี 3 เป็นงานสีน้ำแลนด์สเคป นั่นคือครั้งแรกเลยค่ะ

ถ้าวันนั้นไม่ตัดสินใจเลี้ยวขวา ก็คงไม่ได้เป็นศิลปิน

พอเรียนจบ พี่มีความลังเลเหมือนกันว่าจะทำงานประจำหรือจะเป็นศิลปินวาดรูปไปเลย จำได้ว่าตอนนั้นสมัครงานประจำที่นึงไปก่อน วันหนึ่งต้องขับรถจากต่างจังหวัดมาสัมภาษณ์งานนั้นที่กรุงเทพฯ พอถึงทางแยกหนึ่ง เลี้ยวซ้ายจะเข้ากรุงเทพ เลี้ยวขวาจะไปหัวหิน ในหัวเริ่มคิดละ จะทำงานประจำจริงเหรอ มันใช่เราจริงๆ เหรอ สรุปวันนั้นพี่เลี้ยวขวา ตั้งต้นเป็นศิลปินเลย :)

จากงานแสดงภาพร่วมกับคนอื่น กลายเป็นงานแสดงภาพผลงานเดี่ยวของตัวเอง

หลังเรียนจบช่วงแรกๆ พี่เริ่มที่เน้นพัฒนาตัวเองก่อน ฝึกวาด ฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ พอมีงานแสดงภาพร่วมก็ไปออกงานบ้างเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเอง จนมีโอกาสได้มีงานแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกตอนปี 2011 เค้าให้คิดธีมเอง แน่นอนว่าจะเป็นเรื่องอะไรไม่ได้นอกจากดอกไม้ ครั้งนั้นเอาไปแสดง 30 ภาพ มีคนมาติดต่อขอซื้อแทบทั้งหมดเลย ราคาขายก็แล้วแต่เราจะตั้ง มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น แล้วแต่ขนาดรูปด้วยค่ะ

พอมีครั้งแรกก็มีครั้งต่อๆ มา อย่างปี 2012 ได้แสดงเดี่ยวในธีม Between us คือความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับดอกไม้ พอปี 2013 ได้ไปแสดงเดี่ยวที่หอศิลป์จามจุรี หัวข้อ Between us is love เป็นภาคต่อจากปี 2012

สะสมประสบการณ์มาหลายปี ถึงเวลาโกอินเตอร์บ้างแล้ว

พอแสดงงานเดี่ยวแล้ว มีได้รับเชิญไปแสดงผลงานมากขึ้น เริ่มได้รู้จักศิลปินต่างประเทศมากขึ้นด้วย จนเมื่อปี 2014 เหมือนเป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตเลย คือเราเริ่มรู้สึกว่า ถ้าเราวาดรูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง เราคงติดแหง็กกับความสำเร็จเดิมๆ แต่เรายังอยากท้าทายตัวเองต่อ

ตอนนั้นตัดสินใจว่า คงต้องลองส่งงานไปประกวดในระดับสากลบ้าง พี่ลองส่งภาพวาดดอกกุหลาบ 2 ภาพไปประกวดงานศิลปะที่ประเทศกรีซ (ภาพบน) ถ้าผลงานผ่าน เขาจะเชิญเราไปออกงานที่นั่น สรุปก็ได้ไปจริงๆ ตอนนั้นต้องออกค่าใช้จ่ายเองนะคะ แต่ก็ไม่ซีเรียส เพราะเป็นงานระดับสากลครั้งแรก สิ่งสำคัญสุดคือ เอาประสบการณ์ไว้ก่อนเนาะ ความพีคคือ พอไปถึงงาน พบว่าเขาเอาภาพดอกกุหลาบของเราไปทำเป็นโปสเตอร์งานเลย แถมเขามาขอให้เราช่วยโชว์วาดรูปในงานด้วย ถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับคนเป็นศิลปินจริงๆ นะ

เริ่มจัดเวิร์คช็อปในต่างประเทศตามเสียงเรียกร้องของแฟนคลับ

พอได้ไปออกงานที่กรีซครั้งนั้น ทำให้เริ่มมีคนรู้จักเราเยอะขึ้น เรามีแฟนเพจและอัปงานเราลงอินสตาแกรมต่อเนื่อง เหมือนเป็นข้อมูลศึกษาให้คนอื่นๆ ด้วย ตอนนั้นเริ่มมีชาวต่างชาติที่ชอบศิลปะมาติดตามโดยเฉพาะคนยุโรป บางคนก็อยากให้เราบินไปประเทศเขา ให้ไปจัดเวิร์คช็อปให้หน่อย เขาอยากเรียนมากๆ

จนวันหนึ่ง พี่ตัดสินใจโยนหินถามทางเลยว่า อยากให้จัดที่ไหน ถ้าเราไปได้ เราจะไป สุดท้ายได้ไปจัดครั้งแรกที่สเปน เป็นคอร์สแบบ 3 วัน คิดค่าเรียนคนละ 8 พันกว่าบาท มีคนเรียนทั้งหมด 12 คน เอาจริงๆ ลองหักลบค่าตั๋วเครื่องบินค่ากินอยู่แล้ว เรื่องเงินก็ไม่ถือว่าคุ้มเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ได้มันมากกว่านั้นอีกค่ะ

พอมีเวิร์คช็อปครั้งแรก ก็มีครั้งต่อไปค่ะ ได้ไปประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย ส่วนช่วงไหนที่ไม่ได้ไปจัดเวิร์คช็อปที่เมืองนอก เราก็จะจัดในไทยนี่แหละ ได้สอนคนอื่นด้วยและได้วาดงานของตัวเองไปด้วยเรื่อยๆ เพราะยังต้องพัฒนาตัวเองต่อ เราหยุดก้าวหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไม่ได้

ศิลปินไส้แห้ง? จบศิลปกรรมไปจะทำอะไร? เข้ามาเรียนเพราะคะแนนไม่ถึงคณะอื่น? เงินจะพอกินเหรอ?

เอาตรงๆ เลยคือ เพื่อนที่เรียนด้วยกันมา ทุกคนตั้งใจเข้าคณะนี้โดยตรง ไม่ใช่คะแนนไม่ถึงคณะอื่นเลยมาเข้าคณะนี้ ไม่ได้มองศิลปกรรมว่าเป็นคณะทางเลือก และในบรรดาเพื่อนรุ่นเดียวกันที่จบมา มีพี่คนเดียวในภาควิชาที่มาเป็นศิลปินเต็มตัว เวลากรอกอาชีพลงบนเอกสาร เราภูมิใจมากที่จะกรอกลงไปว่าเราคือ Artist

ส่วนเพื่อนคนอื่นก็เน้นไปทำงานประจำ เช่น กราฟิคดีไซเนอร์ ทำธุรกิจส่วนตัว แอร์โฮสเตรสยังมี ในความคิดของพี่ ถ้าอยากทำงานศิลปินเป็นอาชีพโดยเริ่มเอาเงินเป็นที่ตั้ง มันยากนะ เพราะต้องเอาใจและความชอบเป็นที่ตั้ง มุ่งมั่น พยายาม หาประสบการณ์ สร้างโอกาส สร้างความแตกต่าง แล้วเงินก็จะตามมาเอง

การพัฒนาตัวเองคือหัวใจสำคัญที่สุดของอาชีพศิลปิน

อยากฝากน้องๆ ที่สนใจเรียนศิลปกรรมศาสตร์ว่า ก่อนเรียน ต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่าเราจริงจังและจริงใจกับศิลปะแค่ไหน ถ้าแน่ใจแล้วว่าจะเอาจริง ก็ให้เรียนเลยค่ะ แต่บอกเลยนะว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นมันก็แค่ส่วนนึ่งของชีวิตศิลปินจริงๆ เพราะโลกข้างนอกยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องเรียนรู้ต้องพยายาม อย่างตัวพี่เองก็ต้องพยายามอย่างมากกว่าจะมาอยู่ตรงนี้ ทุกวันนี้มีคนมาเชิญให้เราไปแสดงงานทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้เราไปจัดคอร์สสอนก็มาก พอมาย้อนกลับไปมองวันแรกๆ นั่นเป็นเพราะเราไม่ยอมแพ้  เราเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ ก้าว ถึงจะช้าแต่ใจเราต้องมั่นคงว่าจะสู้ไปทางนี้ ศิลปินไม่ได้ไส้แห้ง ทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิดของเราค่ะ :-)

 

มายกมือสูงๆ เลยว่าพี่เองก็เป็นแฟนคลับของพี่กิ๊บเหมือนกัน >_< งานสวยมากและมีเอกลักษณ์มากๆ เลยเนาะ ^^ น้องๆ คนไหนที่อยากติดตามผลงานของพี่กิ๊บ ก็เข้าไปดูเพิ่มเติมกันได้ที่ https://www.facebook.com/Phatcharaphan.artist มีงานสวยๆ ให้ชมอีกเพียบเลย และที่สำคัญ เชื่อว่าหลายคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า อาชีพ "ศิลปิน" เค้าทำงานกันยังไง ถ้าวันไหนที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบินสูงแล้วล่ะก็ ไม่มีทางไส้แห้งอย่างที่ใครเค้าลือกันแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.dek-d.com/studyabroad/46069/


โพสเมื่อ วันที่ 2017-06-28